ร่างกฎหมายกลายเป็นกฎหมายได้อย่างไร
อัพเดตล่าสุด : 24 ต.ค. 2567
แนะนำภาพรวม
การออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2560
‘รัฐสภา’ คือผู้รับผิดชอบหลักในการออกกฎหมาย เพราะเป็นตัวแทนของประชาชนในการทำหน้าที่และใช้อำนาจนิติบัญญัติ การออกกฎหมายต้องดำเนินตามกระบวนการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกฎหมายมีหลายประเภท กฎหมายประเภทหนึ่งอาจมีกระบวนการ ลำดับขั้น หรือเงื่อนไขในการพิจารณาที่แตกต่างไปจากกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง ด้วยเหตุเพราะกฎหมายแต่ละประเภทมีลำดับชั้นที่แตกต่างกัน
การกำหนดลำดับชั้นระหว่างกฎหมายประเภทต่างๆ มีขึ้นเพื่อให้กฎหมายแม่บท อย่าง ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นตัวกำกับกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นรองลงมา เช่น พระราชบัญญัติ ซึ่งต้องห้ามขัดหรือแย้งต่อกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ การพิจารณาบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่รองลงมาจึงมีกระบวนการบังคับใช้ที่ซับซ้อนน้อยกว่าการแก้ไขหรือการออกกฎหมายตัวแม่บทอย่างการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
แม้กฎหมายจะมีหลายชื่อเรียก และมีลำดับชั้นที่หลากหลาย แต่กฎหมายแม่บททั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากกระบวนการการออกกฎหมายโดย ‘รัฐสภา’ เป็นสำคัญ
กฎหมายบังคับใช้ได้อย่างไร
กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ต้องผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอนสำคัญ
- สส.
- สว.
- สภาร่วม (สส.+ สว.)
- ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
- พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
- การเสนอร่างกฎหมาย เป็นการจัดทำร่างกฎหมายและเสนอเข้าสู่รัฐสภา โดยผู้ที่มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเป็นร่างกฎหมายประเภทใดตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ เช่น ร่าง พ.ร.บ.สามารถเสนอโดยคณะรัฐมนตรี หรือ สส.จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน หรือประชาชนจำนวน 10,000 คน
- การพิจารณาร่างกฎหมายโดยรัฐสภา ร่างกฎหมายจะถูกพิจารณาโดยสมาชิกสภาผู้เแทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามลำดับ การพิจารณาของแต่ละสภาจะมี 3 วาระเท่ากัน แต่มีเงื่อนไขและรายละเอียดในการพิจารณาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ในการพิจารณาร่างกฎหมายบางประเภท จะใช้การประชุมร่วมกันของทั้งสองสภาในการพิจารณา เช่น การพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.
- ร่างกฎหมายกลายเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์์ เมื่อร่างกฎหมายไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ตามด้วยการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
กฎหมายในเว็บไซต์นี้
เว็บไซต์ Parliament Watch มุ่งนำเสนอกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภา เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการทำงานด้านนิติบัญญัติในฐานะตัวแทนประชาชน รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาต่อประเด็นต่างๆ ในทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางของสังคม ทั้งนี้ เว็บไซต์นี้จะไม่ปรากฏกฎหมายที่ถูกตราขึ้นผ่านคณะรัฐมนตรีและไม่ต้องผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภา เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และกฎหมายที่ตราโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ประเภทของกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภา
รัฐสภาประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองร่างกฎหมายก่อนการประกาศใช้ ประกอบด้วย
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
กฎหมายโดยทั่วไปจะถูกตราเป็น พ.ร.บ.
ขั้นตอน
การอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)
พ.ร.ก.เป็นกฎหมายที่ ครม.ประกาศใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือในสภาวะที่มีความจำเป็น โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาในขั้นแรก เป็นเครื่องมือที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการตรากฎหมาย เป็นอำนาจเฉพาะของรัฐบาลในยามฉุกเฉิน เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.แล้ว ครม.ต้องเสนอ พ.ร.ก.ที่ประกาศใช้ต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาอนุมัติเป็น พ.ร.บ.โดยเร็ว
ขั้นตอน
หลังประกาศใช้ ครม.ต้องเสนอ พ.ร.ก.ที่ประกาศใช้ต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณา ในการประชุมรัฐสภาสมัยต่อไป ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและประเมินว่าการรอสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า ครม.ต้องเรียกประชุมสมัยวิสามัญเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ การอนุมัติ พ.ร.ก.เป็นกฎหมายนั้น กำหนดว่าหาก สส.ลงคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ พ.ร.ก.ฉบับนั้นตกไป แต่ถ้า สส.อนุมัติ แต่ สว.ไม่อนุมัติ แล้ว สส.ยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของจำนวน สส.ทั้งหมด ก็ให้ พ.ร.ก.มีผลเป็นกฎหมายและประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.ต่อไป
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงมีกระบวนการไว้เป็นการเฉพาะและมีวิธีการแก้ไขที่ซับซ้อน โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน และ สส.ฝ่ายค้าน 20% ในจำนวนเสียงครึ่งหนึ่งของสองสภาที่ใช้ลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังบังคับให้ทำประชามติถ้าจะแก้ไขในประเด็น บททั่วไป พระมหากษัตริย์ วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณสมบัตินักการเมือง อำนาจศาล และองค์กรอิสระ อีกทั้งยังให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยับยั้งการแก้ไข หากมีสมาชิกรัฐสภาร้องเรียน
ขั้นตอน
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ร่าง พ.ร.ป.)
พ.ร.ป.เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นในรูปแบบ พ.ร.บ.ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่อธิบายขยายความและกำหนดรายละเอียดสาระสำคัญของเรื่องต่างๆ ในรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 130 ระบุให้มี พ.ร.ป.ทั้งสิ้น 10 ฉบับ ตัวอย่างเช่น พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.เป็นต้น
ขั้นตอน
สถานะของกฎหมาย
การจัดแบ่งสถานะของร่างกฎหมายบนเว็บไซต์ Parliament Watch เป็นการจัดแบ่งที่ทีม WeVis กำหนดขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ใช้ทั่วไป การจัดสถานะของร่างกฎหมายแต่ละฉบับที่ปรากฏบนเว็บไซต์นี้ ไม่ได้เป็นสถานะของร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ
สถานะของกฎหมายในเว็บไซต์นี้ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท
ขั้นตอนการออกกฎหมายโดยรัฐสภา
ขั้นตอนทั่วไป
ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันในบางรายละเอียด แต่โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการออกกฎหมายโดยรัฐสภา อย่างเช่นการออก พ.ร.บ.หรือการอนุมัติ พ.ร.ก.จะดำเนินการผ่าน 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การเสนอร่างกฎหมาย
ผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย และลำดับชั้นของกฎหมายที่เสนอได้
ร่าง พ.ร.บ. | ออก พ.ร.ก. | ร่าง พ.ร.ป. | ร่างแก้ไขบทบัญญัติใน รธน. | |
---|---|---|---|---|
ครม. | มีสิทธิเสนอร่าง | มีสิทธิเสนอร่าง | มีสิทธิเสนอร่าง | มีสิทธิเสนอร่าง |
สส. | 20 คน | - | สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 | สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 |
สมาชิกรัฐสภา | - | - | - | สส.และ สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 |
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง | 10,000 คน | - | - | 50,000 คน |
2. การพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฏร
เมื่อร่างกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาโดย สส.ในขั้นตอนนี้จะแบ่งเป็น 3 วาระ ได้แก่
2.1. วาระที่หนึ่ง : ขั้นรับหลักการ
เป็นการพิจารณาหลักการของร่างกฎหมาย ผู้เสนอฯ ต้องชี้แจงความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมายนั้นๆ ในกระบวนการพิจารณา สส.ในสภาจะอภิปรายเหตุผล ถามข้อสงสัยและตั้งข้อสังเกต แล้วจึงขอมติในที่ประชุมว่าจะรับหลักการหรือไม่
วิธีการพิจารณา
สส.ในสภาจะอภิปรายเหตุผล ถามข้อสงสัยและตั้งข้อสังเกต
แล้วจึงขอมติในที่ประชุมว่าจะรับหลักการหรือไม่
ผลลัพธ์
ร่างกฎหมายจะถูกนำไปพิจารณาวาระที่สอง
ร่างกฎหมายนั้นก็จะตกไปและไม่ถูกพิจารณาต่อ
2.2. วาระที่สอง : ขั้นกรรมาธิการ
เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา อาจเพิ่ม ตัดทอนหรือแก้ไขบางมาตราหรือเปลี่ยนถ้อยคำให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนั้น
วิธีการพิจารณา
- ร่างกฎหมายจะถูกพิจารณาโดย ‘คณะกรรมาธิการสามัญ’
ซึ่งมี สส.
เป็นกรรมาธิการในการพิจารณาร่างกฎหมายในด้านที่เกี่ยวข้อง
หรืออาจตั้งขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะเรียกว่า ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญ’
ซึ่งบุคคลภายนอกสามารถเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการได้ - ในบางกรณี สภาอาจให้ สส.ทุกคนร่วมพิจารณา เรียกว่า ‘คณะกรรมาธิการเต็มสภา’
- สส.ที่ไม่เป็นกรรมาธิการสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายได้ โดยเสนอคำขอ
‘แปรญัติ’
ต่อประธานคณะกรรมาธิการภายใน 7 วัน หลังผ่านวาระแรก
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการว่าจะแก้ไขตามหรือไม่ - เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วให้นำร่างกฎหมายเข้าที่ประชุมสภาอีกครั้ง โดย สส.
ทั้งสภาจะมาอภิปรายร่างกฎหมายตามประเด็นที่มีการแก้ไข
จากนั้นจะลงมติเห็นชอบโดยใช้เสียงข้างมาก เรียงตามมาตราจนครบ
จึงให้สภาพิจารณาวาระที่สามต่อไป
2.3. วาระที่สาม : ขั้นลงมติเห็นชอบ
เป็นการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ไม่มีการอภิปรายหรือแก้ไขข้อความใดๆ
ผลลัพธ์
นำไปสู่การพิจารณาของ สว.
ร่างกฎหมายนั้นเป็นอันตกไป
3. การพิจารณาร่างกฎหมายโดยวุฒิสภา
เมื่อ สส.มีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายจะถูกส่งต่อไปยัง สว.โดยการพิจารณาจะมี 3 วาระเช่นเดียวกัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้
หากเกินระยะเวลาที่กำหนดจะถือว่าเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนั้น ซึ่งเงื่อนไขถูกระบุไว้ว่า
- ร่างกฎหมายทั่วไปต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน
- ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน
- ทั้งนี้ สว.สามารถลงมติขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษได้ไม่เกิน 30 วัน
ผลลัพธ์
สว.ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ สส.มีมติเห็นชอบแล้วหายไปได้ แต่ สว.สามารถเพิ่มขั้นตอนในการพิจารณาร่างกฎหมายได้ เมื่อ สว.พิจารณาร่างกฎหมายแล้วสามารถลงมติได้ 3 กรณี
เตรียมนำร่างกฎหมายฯ
เข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้
แก้ไขเพิ่มเติม
โดยลงมติ
ให้กับมติที่นำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติม
- ให้ส่งร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ สส.เห็นชอบ หรือตั้ง
‘คณะกรรมาธิการร่วม’
ของสองสภาขึ้นมาพิจารณา โดยต้องมีจำนวน สส.และ สว.เท่ากัน - เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้วให้เสนอต่อทั้งสองสภา
- ให้ดำเนินขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
- แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน ซึ่ง สส.อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างฯ เดิม หรือร่างฯ ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้
- ให้ ‘ยับยั้ง’ ไว้
- เมื่อพ้นระยะเวลา 180 วัน สส.สามารถยกร่างกฎหมายฉบับนั้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้
- หาก สส.ยืนยันร่างฯ
ฉบับเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ให้ถือว่าร่างฯ ฉบับนั้นได้รับความเห็นชอบ และเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย
4. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมาย
โดยทั่วไป เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้ แต่ถ้าหากนายกรัฐมนตรี หรือ สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาหรือทั้งสองสภารวมกัน เห็นว่าร่างกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิฉัย
ผลลัพธ์
ถ้าไม่มีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แก้ไขเพิ่มเติม
ถ้ามีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ถ้ามีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นสาระสำคัญของร่าง
5. การประกาศใช้เป็นกฎหมาย
เมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน แล้วให้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 20 วัน จากนั้นให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้
ขั้นตอนพิเศษของกฎหมายบางประเภท
ในกระบวนการออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายบางประเภทจะใช้ ‘การประชุมร่วมกันของรัฐสภา’ หรือ สส.และ สว.ประชุมพิจารณาร่วมกัน และ มีเงื่อนไขเพิ่มเติม ได้แก่
การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.
ขั้นตอนในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.จะดำเนินในรูปแบบเดียวกันกับการออก พ.ร.บ.เว้นแต่ในเงื่อนไขเพิ่มเติมต่อไปนี้
- การพิจารณาโดยสภาร่วม (สส. + สว.) ต้องพิจารณา 3 วาระให้เสร็จภายใน 180 วัน
- ในวาระที่ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา
- เมื่อรัฐสภา ‘เห็นชอบ’ ให้ส่งร่าง พ.ร.ป.ไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ
หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องภายใน 15 วัน เพื่อให้ความเห็น
- หากไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วัน ให้รัฐสภาดําเนินการต่อไป
- มีข้อความขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยสามารถแก้ไขตามที่เห็นสมควร จากนั้นให้รัฐสภาดําเนินการต่อไปในวิธีการเดียวกันกับการตรา พ.ร.บ.
การแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา การประชุมร่วมกันจะมีทั้งหมด 3 วาระ เช่นเดียวกันกับการออก พ.ร.บ.แต่ปรากฏเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้
- ในวาระที่หนึ่ง ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภาแล้ว ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว.ที่มีอยู่
- ในวาระที่สอง การลงมติให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระที่สาม
- ในวาระที่สาม การลงมติ ‘เห็นชอบ’ ต้องประกอบด้วย
- เสียงเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา
- เสียงเห็นชอบจาก สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว.
- เสียงเห็นชอบ สส.จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ ‘สส.ฝ่ายค้าน’ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
- ในกรณีที่มีการแก้ไขเกี่ยวกับ บททั่วไป พระมหากษัตริย์ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ หรืออำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ ให้จัดทำประชามติเพื่อเห็นชอบก่อน จึงจะสามารถประกาศใช้ได้
- ในระหว่างนี้ สส.หรือ สว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง โดยในระหว่างนี้ นายกฯ จะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี
ขั้นตอนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี จะแตกต่างจากการออก พ.ร.บ.ทั่วไปในขั้นตอนการพิจารณาของ สว.โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เมื่อ สส.มีมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้ สว.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ควบคู่กับการพิจารณาของ สส.และรายงานผลการพิจารณาพร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อประธานวุฒิสภา
- สว.ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.มาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้
เข้าใจการลงมติของ สส.และ สว.
การลงมติคืออะไร เกิดขึ้นในขั้นตอนไหนบ้าง?
การลงมติ เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสภา ใช้ในกระบวนการพิจารณาเรื่องต่างๆ ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เช่น การพิจารณาญัตติ, การเสนอและพิจารณาร่างกฎหมาย, การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี, การพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ เป็นต้น โดยมติของสภาจะกระทำโดยการออกเสียงลงคะแนน ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สมาชิกรัฐสภาหนึ่งคนมีสิทธิออกเสียงได้หนึ่งเสียง และมติของสภาให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก เพื่อให้ได้ข้อยุติของปัญหาและเพื่อให้ได้แนวทางที่สภาจะต้องดำเนินการต่อไป
วิธีการลงมติ
การลงมติในสภากระทำผ่านการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี
1. การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผย
การลงคะแนนเสียงด้วยวาจา
ผ่านการเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัว เช่น การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
การใช้เครื่องลงคะแนนเสียง
เพื่อลงมติเห็นด้วยหรือไม่ต่อประเด็นต่างๆ
2. การออกเสียงลงคะแนนลับ
การทำเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษ
ใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้
การใช้เครื่องลงคะแนนเสียง
ตามที่ประชุมกำหนด
เกณฑ์ในการเลือกวิธีการลงมติ ตามข้อบังคับการประชุมสภา
ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ หรือที่ประชุมวุฒิสภา
- การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผย
- ถ้ามีสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คนของสภานั้นๆ ขอให้กระทำเป็นการลับ จึงให้ลงคะแนนลับ
- แต่ถ้ามีผู้คัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกในที่ประชุม ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย
ประชุมสภาร่วม
- การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผย
- ถ้าคณะรัฐมนตรีร้องขอ หรือสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 40 คนขอให้กระทำเป็นการลับ จึงให้ลงคะแนนลับ
- แต่ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาในที่ประชุมให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย
ประเภทการลงมติ
โดยทั่วไป การประชุมจะกำหนดให้ สส.และ สว.แสดงเจตจำนงต่อประเด็นที่ใช้ลงมติดังนี้
หาก สส.หรือ สว.ไม่ได้แสดงเจตจำนงด้วยเหตุผลด้านการขาดการประชุมหรือไม่ได้ลงคะแนนเสียง ลักษณะของการออกคะแนนเสียงจะเป็นใน 2 รูปแบบคือ
- สมาชิกอยู่ในองค์ประชุม แต่ไม่ลงมติ
- จะถูกนับเป็นองค์ประชุม และถูกคำนวณในคะแนนเสียงของมติ
- สมาชิกไม่ได้เข้าประชุม
- จะไม่ถูกนับเป็นองค์ประชุม
ผลการลงมติ
การลงมติที่เกี่ยวข้องกับนิติบัญญัติและญัตติต่างๆ ในสภา เช่น การโหวตรับร่างกฎหมายเข้าสภา การโหวตอนุมัติ พ.ร.ก.การพิจารณาญัตติ เป็นต้น จะใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมของแต่ละสภา หรือตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุม ซึ่งโดยทั่วไปจะมีผลการลงมติ ดังนี้
การลงมติในรูปแบบอื่นๆ ที่ต้องให้ความเห็นชอบบุคคล หากมีผู้ถูกเสนอชื่อมากกว่า 2 คนขึ้นไป เช่น มติการเลือกนายกรัฐมนตรี มติเลือกประธาน / รองประธานสภาฯ จะมีผลการลงมติเป็นการรับรองผู้ที่ได้รับการโหวตมากที่สุด
สส.และ สว.ทำอะไรบ้างในสภา
หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.)
1. เสนอร่างกฎหมาย
- สส.จำนวน 20 คน สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.
- สส.จำนวน 1 ใน 5 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- สส.จำนวน 1 ใน 10 สามารถเสนอร่าง พ.ร.ป.
2. พิจารณาร่างกฎหมาย (พ.ร.บ.)
- ลงมติรับร่างกฎหมายเข้าสภา
- พิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตราในชั้นกรรมาธิการ
- ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมาย
- ยืนยันออกร่าง พ.ร.บ.ที่ สว.ไม่อนุมัติ
3. อนุมัติ พ.ร.ก.หรือกฎหมายฉุกเฉินที่ออกโดย ครม.ให้เป็นกฎหมาย
- ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.
- เสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และให้ชะลอ พ.ร.ก.ไว้ก่อน
- อนุมัติ พ.ร.ก.หรือกฎหมายฉุกเฉินที่ออกโดย ครม.ให้เป็นกฎหมาย
4. ดำเนินกิจการสภา
- ศึกษาและพิจารณาข้อกฎหมายในคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา
- พิจารณาศึกษาและสอบสวนกรณีต่างๆ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นการเฉพาะ
- เลือก สส.เป็นกรรมาธิการคณะกรรมาธิการสามัญ
- เลือก สส.หรือผู้ที่ไม่ได้เป็น สส.ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่สภากําหนด
5. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
- เสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ
- ลงมติเลือกนายกฯ
หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
1. พิจารณาร่างกฎหมาย (พ.ร.บ.)
- กลั่นกรองและให้ความเห็นร่างกฎหมายที่ สส.เห็นชอบ
- ยับยั้งร่างกฎหมายเพื่อส่งให้ สส.พิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติ พ.ร.ก.หรือกฎหมายฉุกเฉินที่ออกโดย ครม.ให้เป็นกฎหมาย
- ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.
- เสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และให้ชะลอ พ.ร.ก.ไว้ก่อน
3. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
- ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเกี่ยวกับงานในหน้าที่ในรูปแบบเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา และสามารถตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
- ตรวจสอบและเร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
- ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดกรณีรัฐบาลไม่ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ
4. ดำเนินกิจการสภา
- เลือก สว.เป็นกรรมาธิการคณะกรรมาธิการสามัญ
- เลือก สว.หรือผู้ที่ไม่ได้เป็น สว.ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่สภากําหนด
5. แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
- ลงมติเห็นชอบผู้ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- พิจารณาแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ ได้แก่ ป.ป.ช., ก.ก.ต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
หน้าที่ของสภาร่วม (สส. + สว.)
รัฐสภาจะประชุมร่วมกันได้ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา
1. ด้านนิติบัญญัติ (การตรากฎหมาย)
- พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)
- ปรึกษาร่าง พ.ร.ป.หรือร่าง พ.ร.บ.ใหม่
- พิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่ ครม.ร้องขอ
- ตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
- แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
- ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
- รับฟังคำแถลงนโยบายของ ครม.
- เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
3. ด้านการประชุมรัฐสภา
- เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก
- ให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุม
- ตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
4. ด้านการให้ความเห็นชอบ
- ให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม
- รับฟังคำชี้แจงและให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต อำนาจอธิปไตย หรือกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าของประเทศอย่างกว้างขวาง
5. กรณีตามบทเฉพาะกาล
- ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 (5 ปีแรกของรัฐสภาชุดแรก)
- พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ตราขึ้นตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ
- พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ สว.หรือ สส.ยับยั้งไว้ตามมาตรา 271
6. ด้านหมวดพระมหากษัตริย์
- ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- รับทราบการปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา
- รับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
- รับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ
เว็บไซต์นี้สร้างโดย กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Technology) ที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านเทคโนโลยีและข้อมูลเปิด (Open Data) ภารกิจของเราคือการทำให้ประชาธิปไตยไทยเปิดเผย โปรงใส และมีส่วนรวมได้ เราจึงตั้งใจพัฒนาโปรเจกต์ Parliament Watch ให้เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดช่องทางให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถจับตาดูการทำงานของ ‘รัฐสภา’ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนในการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) Open Society Foundations และ กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (CG Fund) ซึ่งนำมาใช้เป็นต้นทุนในการรวมรวมข้อมูล ออกแบบ พัฒนาเว็บไซต์ ประสานงาน บริหารจัดการ ตลอดจนการจัด Meetup เพื่อดำเนินโครงการ