ร่าง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
ชื่อทางการ ร่างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ
3 ก.ค. 67
กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. ชุดที่ 26 (2566)
พรรคประชาชาติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดให้พื้นที่ป่าที่จะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้น จะต้องไม่เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น หรือไม่เป็นที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนที่จะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาตินั้น (ร่างมาตรา ๓ เพิ่มมาตรา ๖ วรรคสาม) (๒) ในกรณีเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนที่จะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา ๖ วรรคสาม ก็ให้เพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนกันนั้นออกและให้กรมที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น กรณีพิสูจน์สิทธิแล้วปรากฏว่าได้มีการครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินภายหลังกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ก็ให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์หรือเป็นสิทธิแก่ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งที่ดินตั้งอยู่ตามหลักสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ รวมทั้งบุคคลใดไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่ถึงยี่สิบไร่ และได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งไม่มีสภาพเป็นป่าหรือมีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรมแล้ว และไม่ได้เป็นป่าที่ควรอนุรักษ์เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมจำนวนเนื้อที่ดินไม่เกินยี่สิบห้าไร่ และยึดถือครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนหนึ่งปีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอต่อผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่เพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม นอกจากนั้น ผู้ได้รับหนังสือรับรองการยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นไม่สามารถโอนให้แก่ผู้อื่นได้ เว้นแต่การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม (ร่างมาตรา ๕ เพิ่มมาตรา ๑๒/๑ มาตรา ๑๒/๒ และมาตรา ๑๒/๓) (๓) กำหนดให้การพิจารณาให้บุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องร่วมพิจารณาโดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวนั้นด้วย (ร่างมาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๖ วรรคสอง)
รายชื่อผู้เสนอกฎหมาย
ผู้ร่วมเสนอ 19 คน
พรรคประชาชาติ
6 คน
พรรครวมไทยสร้างชาติ
1 คน
พรรคพลังสังคมใหม่
1 คน
พรรคประชาธิปัตย์
10 คน
พรรคก้าวไกล
1 คน
เว็บไซต์นี้สร้างโดย กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Technology) ที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านเทคโนโลยีและข้อมูลเปิด (Open Data) ภารกิจของเราคือการทำให้ประชาธิปไตยไทยเปิดเผย โปรงใส และมีส่วนรวมได้ เราจึงตั้งใจพัฒนาโปรเจกต์ Parliament Watch ให้เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดช่องทางให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถจับตาดูการทำงานของ ‘รัฐสภา’ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนในการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) Open Society Foundations และ กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (CG Fund) ซึ่งนำมาใช้เป็นต้นทุนในการรวมรวมข้อมูล ออกแบบ พัฒนาเว็บไซต์ ประสานงาน บริหารจัดการ ตลอดจนการจัด Meetup เพื่อดำเนินโครงการ