ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
ชื่อทางการ ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ
14 พ.ย. 67

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. ชุดที่ 26 (2566)
พรรคประชาชน๑. การกำหนดให้พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติจะต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นหรือต้องมิได้เป็นที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากปรากฏว่า มีพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือนโยบายรัฐบาล จะต้องดำเนินการแก้ไขให้เสร็จก่อน (ร่างมาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๘) ๒. การเตรียมการเพื่อกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ จะต้องเปิดเผยข้อมูลและแผนที่แนวเขตให้ประชาชนได้รับทราบ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบของสภาเทศบาลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ ตามประกาศที่รัฐมนตรีกำหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๘) ๓. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในส่วนของที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา สิทธิมนุษยชน วนศาสตร์ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การท่องเที่ยว และการปกป้องคุ้มครองสิทธิที่ดิน จำนวนสาขาละหนึ่งคน (ร่างมาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง) ๔. แก้ไขเพิ่มเติมในการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือการบำรุงรักษาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยที่ไม่ได้ขยายจากพื้นที่เดิม (ร่างมาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๒) ๕. แก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ โดยเพิ่มวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาให้รองรับและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ที่ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย ออกไป (ร่างมาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๖๔) ๖. แก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาศึกษาและการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดทดแทนได้เพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีชีวิตดั้งเดิม ในการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาตินั้นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ โดยรอบบริเวณอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้หน่วยงานของรัฐคือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในการเริ่มต้นดำเนินการการจัดทำโครงการฯ ดังกล่าว จึงแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถร้องขอในการจัดทำโครงการฯ ได้ด้วย (ร่างมาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๖๕)
รายชื่อผู้เสนอกฎหมาย
ผู้ร่วมเสนอ 22 คน

พรรคประชาชน
22 คน
เว็บไซต์นี้สร้างโดย กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Technology) ที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านเทคโนโลยีและข้อมูลเปิด (Open Data) ภารกิจของเราคือการทำให้ประชาธิปไตยไทยเปิดเผย โปรงใส และมีส่วนรวมได้ เราจึงตั้งใจพัฒนาโปรเจกต์ Parliament Watch ให้เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดช่องทางให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถจับตาดูการทำงานของ ‘รัฐสภา’ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนในการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) Open Society Foundations และ กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (CG Fund) ซึ่งนำมาใช้เป็นต้นทุนในการรวมรวมข้อมูล ออกแบบ พัฒนาเว็บไซต์ ประสานงาน บริหารจัดการ ตลอดจนการจัด Meetup เพื่อดำเนินโครงการ